https://experience-alarm.blogspot.com/google.com,%20pub-3791389710662192,%20DIRECT,%20f08c47fec0942fa0 บันทึก"ต้นตระกูล"

โพสต์แนะนำ

บันทึก"ต้นตระกูล"

 



การได้รับบรรดาศักดิ์ของคนสมัยก่อน มักเป็นผลมาจากการช่วยเหลือราชการ ทางราชการตอบแทนโดยการให้บรรดาศักดิ์เพื่อเป็นเกียรติประวัติ เกียรติประวัติดังกล่าวส่งผลมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
ชาวไทยเชื้อสายจีนของเมืองเชียงใหม่ ๒ คน ที่ได้รับบรรดาศักดิ์ในคราวเดียวกัน คือ ขุนอนุกรบุรีและขุนอนุการราชกิจ
นลูกรุ่นหลานเป็นตระกูลใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ในขณะนี้

ขุนอนุกรบุรี เดิมแซ่นิ้ม เป็นต้นตระกูล “นิมากร” ส่วนขุนอนุการราชกิจ เดิมแซ่ตั้ง เป็นต้นตระกูล “ตันสุหัช” ทั้งขุนอนุกรบุรีและขุนอนุการราชกิจเกี่ยวข้องเป็นญาติกันทางภรรยา โดยภรรยาของขุนอนุการราชกิจ ชื่อ แม่จันแก้ว แซ่นิ้ม เป็นน้องสาวของขุนอนุกรบุรี

ทั้งนี้ครอบครัวเดิมของขุนอนุกรและแม่จันแก้ว มาจากครอบครัวใหญ่ร่ำรวยย่านวัดเกตการาม แม่ชื่อแม่ไหว แซ่นิ้ม บุตรธิดาหลายคน คือ ขุนอนุกรบุรี (เย็น แซ่นิ้ม), นางจันแก้ว, นางคำดิบ, นางคำแดง, นางเกี๋ยงคำ, นางจันแก้วและนางคำหล้า อาคารบ้านไม้สัก ๖ เสา เสาด้านหน้าร้านแกลลอรี่ คือ บ้านของครอบครัวแม่ไหว รวมทั้งอาคารบริษัทธาราใกล้เคียงกันก็เป็นของแม่ไหวด้วย ต่อมาขายให้นายอุย แซ่เหลี่ยว (คุณยายซิวเฮียง โจลานันท์, สัมภาษณ์)

ขุนอนุกรบุรี ชื่อเดิม คือ นายเย็น แซ่นิ้ม ต่อมาเปลี่ยนเป็น “นิมากร” มีภรรยา ๓ คน ภรรยาจากเมืองจีน ชื่อ นางเฮียง ลูกสาวสองคน คือ นางงื่นซุ้น แซ่นิ้ม และนายบรรยงค์ แซ่นิ้ม (นิมากร) ภรรยาคนไทย ชื่อ นางหลาน อินทเคหะ ชาวบ้านสันป่าข่อย เป็นบุตรสาวของหลวงผดุงมัชกิจ ชื่อเดิม คือ อุ่นเรือน อินทเคหะ มีอาชีพรับเหมาทำโรงต้มกลั่นสุรา บ้านอยู่เชิงสะพานนวรัฐ บุตรสาวของหลวงผดุงมัชกินคนหนึ่ง เป็นภรรยาของขุนอนุพลนคร ชื่อว่า แม่คำบาง




นางงื่นซุ้น ลูกสาวของขุนอนุกร สมรสกับนายเหลี่ยงติก แซ่เหลี่ยว บุตรธิดารวม ๖ คน คือ ๑.น.ส.จีราวรรณ เรืองวิสุทธิ์ ๒.นางระพีพรรณ แซ่โง้ว ๓.นายณรงค์ เรืองวิสุทธิ์ ๔.น.ส.พรรณฤมิตร อินทะเคหะ ๕.นายทรงชัย เรืองวิสุทธิ์ และ ๖.นายแพทย์ไกรวัลย์ เรืองวิสุทธิ์ อดีตแพทย์ รพ.ราชวิถี กรุงเทพฯ

บ้านของขุนอนุกรอยู่ถนนท่าแพ ติดกับสะพานแม่ข่าฝั่งขวาของถนน เป็นบ้านไม้สักใหญ่สองชั้น เปิดเป็นร้านค้าจำหน่ายวัสดุก่อสร้างทั่วไป ชื่อร้าน “หนิ่มเฉี่ยวฮอด”

บ้านหลังนี้กว้างขวางมีถึง ๘ ห้อง อยู่กันถึง ๑๐ กว่าคน คือ ขุนอนุกร ภรรยา ๒ คน ครอบครัวของบุตรสาว คือ นางงื่นซุ้น รวม ๘ คน และครอบครัวของนายบรรยงค์ รวม ๔ คน ต่อมาครอบครัวนางงื่นซุ้น ย้ายไปซื้อบ้านไม้สักสองชั้นที่สันป่าข่อย เปิดเป็นร้านชื่อ

“เหลี่ยวซุ่นหลี” ขายรถจักรยาน หลังจากขุนอนุกรเสียชีวิต ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ บ้านที่ถนนท่าแพยกให้นายบรรจง นิมากร บุตรชายคนหนึ่งขอนายบรรยงค์ คือ น.พ.สมโพธิ นิมากร เรียนจบคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่น ๑ และไปต่อที่สหรัฐอเมริกา กลับมาเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เสียชีวิตเมื่ออายุ ๔๖ ปี น.พ.สมโพธิ ใช้ที่บ้านเปิดเป็นคลีนิค ชื่อว่า “คลีนิคหมอสมโพธิ” ภายหลังขายให้นายนิตย์ วังวิวัฒน์ เจ้าของกิจการชาระมิงค์และเครื่องปั้นดินเผาศิลาดล เปิดเป็นร้านศิลาดล ขายเครื่องปั้นดินเผา

นายณรงค์ เรืองวิสุทธิ์ บุตรชายคนที่สามของนางงื่นซุ้น เล่าเรื่องร้านเหลี่ยวซุ่นหลี บ้านไม้สักเก่าสองชั้นย่านสันป่าข่อยติดกับธนาคารกรุงไทย ว่า
“พ่อมาซื้อบ้านหลังนี้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ ก่อน พ.ศ.๒๔๘๔ เดิมบ้านหลังนี้ขายต่อกันมาหลายทอด จนนายอุย แซ่เหลี่ยว รับจำนองไว้ และแม่ซื้อต่อจากนายอุย สมัยนั้นสั่งจักรยานบรรทุกรถไฟจากกรุงเทพฯ มาขาย ขายดีมาก ร้านขายจักรยานอีกร้านหนึ่ง ชื่อ ร้านเสริมสวัสดิ์ เป็นของคุณเอื้อม เอื้องไพโรจน์ คนจากกรุงเทพฯ เปิดร้านเป็นห้องแถวอยู่ติดวัดสันป่าข่อย บริเวณนั้นปัจจุบันเป็นส่วนของธนาคารกรุงไทย”

ว่ากันว่าครอบครัวของขุนอนุกรบุรี ได้ชื่อว่าร่ำรวย มีที่นาเยอะนับเป็นหลายร้อยไร่ทางเขตแม่โจ้และอำเภอแม่แตง ช่วงหน้าเกี่ยวข้าวรุ่นลูกของขุนอนุกรบุรี ต้องไปกินนอนที่นาเพื่อแบ่งข้างเปลือกครึ่งหนึ่งจากผลผลิตที่จ้างชาวบ้านทำนา มาเก็บไว้ที่โกดังติดกับสถานีรถไฟเพื่อขายให้โรงสีข้าว “หง่วนล้ง” เจ้าของคือ แม่ของนายเอื้อม ตนานนต์ ซึ่งเป็นพ่อของอาจารย์พงศ์ ตนานนท์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนปรินส์ฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่มีการทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีญี่ปุ่นในเมืองเชียงใหม่ โกดังของขุนอนุกรพลอยโดนระเบิดข้าวและอาคารเสียหายไปมาก



ด้านขุนอนุการราชกิจ เดิมชื่อว่า นายตั้วเท้า แซ่ตั้ง อาชีพค้าขายผ้า ต่อมาเปลี่ยนเป็นค้าเหล็กและวัสดุก่อสร้าง มีร้านอยู่ย่านสันป่าข่อยใกล้สะพานนวรัฐด้านตะวันออก ติดกับร้านของขุนอนุพลนครไปทางตะวันออก เป็นอาคารตึกสองชั้นกว้างขวาง ชื่อว่าร้าน “ตันชุนฮวด” กิจการค้าขายมีความเจริญก้าวหน้ามาก ทรัพย์จากการค้าบางส่วนจุนเจือบริจาคช่วยเหลือสังคม จนได้รับบรรดาศักดิ์ดังกล่าว

ขุนอนุการราชกิจ มีภรรยา ๒ คน จากเมืองจีน ๑ คน และภรรยาไทยชื่อ นางจันแก้ว ขุนอนุการมีบุตรธิดารวม ๔ คน คือ นายชาญ ตันสุหัช, นายชิน ตันสุหัช, นายเชี่ยงกิ้ม ตันสุหัช และนางเชงลั้ง ตันสุหัช (ปิฏกานนท์)

หลังจากขุนอนุการราชกิจเสียชีวิต นายชาญและนายชิน บุตรชายดูแลกิจการร้านต่อ
นายชิน ตันสุหัช แต่งงานกับพวงเพชร (เพ็กเซี้ยม) บุตรธิดา คือ น.ส.วณี ตันสุหัช, นางศรีจันทร์ สุพรรณบรรจง, นายควรชิต ตันสุหัช และน.ส.นิตยา ตันสุหัช

นายควรชิต ตันสุหัช เล่าเรื่องของพ่อว่า “ก๋ง (ขุนอนุการราชกิจ) เปิดร้านขายทอง เพชร อัญมณี ที่บ้านอยู่เชิงสะพานจันทร์สม ฝั่งวัดเกตฯ และต่อมาสร้างตึกที่ถนนเจริญเมือง ย่านสันป่าข่อย ปัจจุบันเป็นร้านจังหย่งเฮงรวม ๕ ห้อง ต่อมาก๋ง เสียชีวิตสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘) เตี่ย (นายชิน ตันสุหัช) ชื่อจีน คือ เชี่ยงกุ่ย แซ่ตั้ง และพี่ชายคือ นายชาญ ได้รับแบ่งตึกแห่งนี้ ในส่วนของเตี่ย เปิดร้านชื่อ อนุการพานิช หรือตันชุนฮวด มอบให้แม่พวงแพชรดูแล ต่อมานำไปขายฝากไว้กับนายเวทย์ วิบุลสันติ นำเงินมาค้าขาย ต่อมาเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ไป ส่วนเตี่ย ระหว่างไปซื้อสินค้าที่กรุงเทพฯ ไปได้ภรรยาจากกรุงเทพฯ นำมาอยู่เชียงใหม่”

นายชิน ตันสุหัช มาเปิดร้านขายวัสดุก่อสร้างที่ตลาดวโรรส ถนนช้างม่อย เพิ่มอีก ๑ ร้าน ใช้ชื่อว่าร้าน “อนุการพานิช” ขายเครื่องก่อสร้าง มอบให้ภรรยาคนที่สอง คือ นางสมใจ ตันสุหัช ควบคุม ต่อมาเลิกกิจการ นางสมใจ เปลี่ยนอาชีพเป็นค้าขายอัญมณี ปัจจุบันรุ่นลูกทำร้านจำหน่ายสุราชื่อ “ลักษณา” อยู่บริเวณแยกโรงแรมเชียงใหม่ภูคำ นอกจากนี้นายชิน ยังได้ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างด้วย ส่วนหนึ่งรับเหมาช่วงจากนายชู โอสถาพันธ์ ตึกแถวตรงข้ามร้านวิศาลบรรณาคาร เป็นส่วนหนึ่งที่นายชินก่อสร้าง

ส่วนนายชาญ ตันสุหัช แต่งงานกับนางเชงกี บุตรชายคือ นายวินิจ ตันสุหัช นายชาญมอบให้นายวินิจ ตันสุหัช บุตรชายควบคุม ส่วนนายชาญแยกไปเปิดร้านที่ถนนวิชยานนท์ ติดกับร้านนิยมพานิชเก่า ชื่อร้าน “อนุการค้า” ขายวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้งานอีกส่วนหนึ่งคือไปรับเหมาเป็นผู้จัดการโรงเหล้า ได้รับความเชื่อถือในด้านความซื่อสัตย์ คราวหนึ่งมีการแข่งขันประมูลโรงเหล้าที่เชียงใหม่ นายชาญ ถูกผู้ประมูลคู่แข่งจ้างมือปืนจากเมืองแพร่มาลอบยิงที่หน้าสโมสรพานิช ถนนช้างคลาน กว่าจะมีผู้พบเห็นและนำโดยสารรถสามล้อถีบไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิคก็ใช้เวลานาน จนต้องเสียชีวิตลง มือปืนถูกจับดำเนินคดีขณะขึ้นรถไฟกลับแพร่

ด้านกิจการค้าเครื่องก่อสร้างในช่วงนั้นผลประกอบการไม่ดี จนกรรมสิทธิ์ตกเป็นของ “เถ้าแก่หมาแดง” ตระกูลวิบูลสันติและตกทอดมาเป็นร้านตันหย่งเฮงเส็งจนปัจจุบัน
บุตรชายของขุนอนุการราชกิจคนที่สาม คือ นายเชี่ยงกิ้ม ตันสุหัช ไปทำกิจการที่อำเภอฝาง รุ่นหลานได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดเชียงใหม่ คือ นายสันติ ตันสุหัช บุตรสาวคนสุดท้ายของขุนอนุการราชกิจ คือ นางเชงลั้ง ตันสุหัช ได้สมรสกับนายไต้เจียว ปิฏกานนท์ เป็นเจ้าของกิจการร้านชิ้นเซียงหลี (นางสมใจ ตันสุหัช, สัมภาษณ์)

การได้รับบรรดาศักดิ์ของขุนอนุกรบุรีและขุนอนุการราชกิจ มีหลายกระแสด้วยกัน ด้านหนึ่งบอกว่า เป็นผลมาจากการเรี่ยไรช่วยค่าก่อสร้างโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ถนนวิชยานนท์ สมัยนั้นเรียกกันว่า “สุขศาลา” ที่ดินส่วนหนึ่งเป็นของหลวงอนุสารสุนทร

คลิปวิดีโอ พูดคุยลำดับญาติลูกพี่ลูกน้อง

ความเกี่ยวโยงกับขุนอนุการราชกิจ @เขียนในใบมอบตราตั้ง 

"น้องนุ่งสกุลเดียวกัน"


https://www.youtube.com/watch?v=oZoZfqlq878&t=108s

กราบขอบคุณทุกๆท่าน และ คุณครูเพ็ญแข (คุณป้า)

ไม่มีความคิดเห็น: