ข่าวสารต่างๆ ทางสื่อออนไลน์โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่เราเสพกันทุกวัน หลายคนอ่านแล้วอดไม่ได้ที่จะแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกออกมา
บางคนแสดงความเห็นด้วยเหตุด้วยผลไม่ต้องการกระทบใครแต่คนที่อ่านอาจไม่ได้คิดอย่างนั้น
บางคนแสดงความเห็นด้วยอคติ บางคนแสดงออกมาด้วยอารมณ์และคำพูดที่ไม่ดี ด้วยคำด่าบ้าง คำหยาบคายบ้าง เหน็บแนมบ้าง
ยกตัวอย่างคดีลอตเตอรี่ 30 ล้านบาท ถ้าใครติดตามข่าวก็จะเห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าลอตเตอรี่เป็นของตำรวจ ทั้งมีการคอมเมนต์ให้กำลังใจตำรวจและทีมทนายของตำรวจ
บางคนคอมเมนต์ทำนองด่าทอเสียดสีทางคุณครู ขณะผู้ที่เชื่อว่าลอตเตอรี่เป็นของครูก็มี บางคนก็ตอบโต้กลับคนที่ว่าทางคุณครูก็เยอะ
ลองคิดให้ดีทั้งที่ผู้คนที่เห็นด้วยในแต่ละฝั่งนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในลอตเตอรี่ 30 ล้านนั้นเลย
แต่เวลาแสดงความเห็นประหนึ่งว่าตัวเองเป็นคู่กรณีเสียเอง บางคนเหมือนเดือดร้อนแทนทั้งสองคน ใครกันหนอที่เป็นอย่างนี้บ้าง
พระครูปลัดเฉลิมชาติ ชาติวโร พระธรรมวิทยากรไทย ในแดนพุทธภูมิ เจ้าอาวาสวัดสิทธารถราชมณเฑียร ประเทศอินเดีย
แนะนำการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความสุขว่า อย่าไปใส่ใจคำคอมเมนต์มากเกินไป
หรืออย่าไปทะเลาะอะไรกับใครในโลกโซเชียลจะดีที่สุด เห็นอะไรดีๆ ก็เก็บไว้ใช้งาน เห็นอะไรที่กวนใจก็ปล่อยๆ มันไป
“ที่สำคัญไม่ต้องทำตัวเป็นครู รู้ไปซะทุกเรื่อง ไม่อย่างนั้นทุกข์เละเทะ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเถอะ ถือสาไปก็ไม่ได้อะไร อ่านแล้วก็ผ่านเลยไป อย่าไปหาเรื่องใคร ให้เป็นบาปแก่ตัว ใครจะเข้าใจยังไงก็ช่างเขา เพราะนั่นมันเขา ไม่ใช่เรา บางทีคนเขียนโต้ตอบกันไปมา จนพาลหาเรื่องด่ากันถึงโคตรเหง้าตระกูลทั้งที่ไม่รู้จักกันแท้ ๆ หาเรื่องขัดใจกันอยู่ได้ เห็นแล้วก็ดูน่าสงสาร”
นี่คือหลักอุเบกขา การเรียนรู้ที่จะวางเฉย ลองเอาไปปฏิบัติดูแล้วสุขแน่นอน ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องถูกด่า
ข้อมูลจาก 40plusรับวัยว้าวุ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น